sweetsmile มือใหม่
เข้าร่วมเมื่อ: 22/05/2012 ตอบ: 12
|
ตอบ: Sat May 26, 2012 1:26 pm ชื่อกระทู้: เหตุการณ์การเป็นนบี (ชีวิตการแต่งงาน) |
|
|
การแต่งงานครั้งแรก
ท่านนะบีประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จนเมื่ออายุ 25 ปี อบูฏอลิบอยากให้ท่านนะบีมีคู่ครอง มีหญิงร่ำรวยคนหนึ่งในมักกะฮฺชื่อ เคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด ซึ่งอายุ 40 ปีแล้ว นางได้ยินชื่อเสียงว่าท่านนะบีเป็นนักธุรกิจที่เก่ง ในขณะที่นางมีเงินแต่ไม่มีใครที่จะดูแลทรัพย์สมบัติ จึงส่งคนไปเสนอให้ท่านนะบีมาดูแลทรัพย์สินของเธอในการทำธุรกิจ ท่านนะบีรับปากและได้ช่วยเหลือทำธุรกิจของเธอหลายครั้งจนมีความสนใจและไปสู่ขอ โดยมีลุงคืออบูฏอลิบเป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อแต่งงานกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ซึ่งมีอายุมากกว่าท่าน 15 ปีแล้ว ในภายหลังก็ปรากฏว่านางเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือท่านมากที่สุด เพราะหลังจากที่ท่านมีลูก 2-3 คนแล้วท่านก็ได้รับวะฮียฺ และเมื่อรับวะฮียฺแล้ว 3 ปี อบูฏอลิบและท่านหญิงคอดิญะฮฺก็เสียชีวิตในปีเดียวกัน ท่านนบีจึงเรียกปีนั้นว่า อามุลฮิซนฺ (عام الحزن) ปีแห่งความเศร้าโศก เพราะเป็นสองคนที่ท่านนะบีรักและให้การสนับสนุนท่านอย่างเต็มที่
อัลลอฮฺทรงรักษาชีวิตของท่านนะบีไว้ให้อยู่ในความสว่าง ท่านจึงเกิดในบรรยากาศที่บริสุทธิ์ เมื่อไม่มีอะไรโสมมมากระทบจิตใจ ปรัชญาก็จะเกิดขึ้น และความสะอาดบริสุทธิ์ย่อมเป็นลักษณะของจิตใจ หลังจากที่ท่านนะบีเริ่มมีอายุแล้วคือ 30 ปี เป็นคนหนุ่มที่แข็งแรงมีศักยภาพ ท่านก็เริ่มแสวงหาสัจธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยใช้วิธีอิบาดะฮฺของบรรดานะบีและร่อซูลทั้งปวง นั่นคือการพิจารณาธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ แต่ที่มักกะฮฺมีคนไหว้รูปเจว็ด ทำซินา ฏอวาฟโป๊ เป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ท่านจึงต้องปลีกตัวออกจากมักกะฮฺ ทุก 2-3 เดือนท่านจะขอตัว 15 วันไปอยู่ที่ถ้ำฮิรออฺ ญะบัลอันนูร(*1*) โดยมีท่านหญิงคอดิญะฮฺเตรียมเสบียงให้
(*1*) เป็นชื่อที่ตั้งภายหลัง หมายถึง ภูเขาแห่งแสงสว่างหรือรัศมี เนื่องจากวะฮียฺหรือแสงสว่างจากอัลลอฮฺเริ่มปรากฏที่ภูเขานี้ ญะบัลอันนูรเป็นภูเขาที่สูงมาก อยู่ห่างจากมักกะฮฺประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลาขึ้นถึงถ้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าเป็นวัยรุ่นที่แข็งแรงอาจใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ถ้ำฮิรออฺเป็นถ้ำเล็กๆ เมื่ออยู่ในถ้ำจะปลอดภัยจากความหนาว ความร้อน และสัตว์อันตรายต่าง ๆ
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนะบีจะปลีกตัวไปอยู่ในถ้ำฮิรออฺหลายวันหลายคืนเพื่อทำอิบาดะฮฺ ในตอนนั้นท่านนะบียังไม่ได้รับวะฮียฺจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่มีระบุในหะดีษหลายๆ บทว่าท่านทำอิบาดะฮฺด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พินิจพิจารณา(ตะฟักกุร *2*) มองดูชั้นฟ้า เมฆ ภูเขา อูฐ แพะ แกะ และธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างไว้ ด้วยบรรยากาศอันบริสุทธิ์ตลอดชีวิตของท่าน ย่อมทำให้ท่านเติบโตสู่สัจธรรม
(*2*) เป็นอิบาดะฮฺที่มีบทบัญญัติให้ผู้ศรัทธาทำ แต่เราไม่ค่อยทำ เราเน้นอิบาดะฮฺที่ใช้อวัยวะ ไม่ค่อยเน้นการรำลึก เช่นที่เรื่องละหมาดมักถูกถามว่าต้องยกมืออย่างไร แต่ไม่ค่อยถามว่าต้องทำจิตใจอย่างไร ละหมาดด้วยอวัยวะภายนอก ไม่ได้ละหมาดด้วยจิตใจภายใน
แต่ไม่ใช่เพียงเพราะการกระทำของท่านที่ทำให้ท่านเป็นนะบี เพราะมีหลายคนในเกาะอาหรับที่กระทำเหมือนท่าน คือไม่ยุ่งกับการไหว้รูปเจว็ดและออกไปพิจารณาธรรมชาติ แต่อัลลอฮฺไม่ได้คัดเลือกเขา อุละมาอฺอะหฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺมีอะกีดะฮฺว่า อันนุบูวะตุ มินหะตุ ฆ็อยรุมุคตะสะบะ (النبوة منحة غير مكتسبة) คือการที่อัลลอฮฺทรงคัดเลือกท่านให้เป็นนะบี เป็นมินหะฮฺ คือ(ของขวัญหรือ)สิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้ ไม่ใช่มุคตะสะบะ(สิ่งที่เราต้องมีคุณสมบัติจึงจะได้รับ) ฉะนั้น ท่านนะบีจึงมีตำแหน่งว่า อัลมุสเฏาะฟา (الْمُصطفى หมายถึง ที่ถูกคัดเลือก) คือจากบรรดามนุษยชาติทั้งปวง ท่านนะบีเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวที่ได้รับการคัดเลือกจากอัลลอฮฺ
หากนำเรื่องราวชีวิตของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีบทบาทมาเล่า จะเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับชีวประวัติของท่านนะบี เมื่อนำมาเล่าก็เป็นเรื่องที่น่าฟังในทุกยุคสมัย เพราะผูกพันระหว่างเรื่องชีวิตและศาสนา ปลุกอีมาน และเพิ่มความรักต่อท่านนะบี ซึ่งความรักต่อท่านนะบีเป็นสิ่งที่ผูกพันกับอะกีดะฮฺของเรา คนที่ไม่รักนะบีไม่ใช่มุสลิม หรือคนที่รักนะบีแบบผิวเผินเป็นคนธรรมดา แต่คนที่อยากใกล้ชิดกับท่านนะบี อยากรักนะบีอย่างแท้จริง ก็ต้องศึกษาประวัติของท่านนะบีอย่างจริงจัง ดังนั้น เราต้องมีเจตนารมณ์ที่จะศึกษาชีวประวัติของท่านนะบีอย่างแท้จริง อย่าให้การพูดคุยกันนี้เป็นเพียงการบอกเล่า แต่ให้เหมือนกับเป็นการมองประวัติศาสตร์ เจาะเหตุการณ์ต่าง ๆ และให้เรื่องราวสมัยท่านนะบีเป็นตัวอย่างสำหรับชีวิตของเรา
คนที่อ่านอัลกุรอานในยุคปัจจุบันนี้ จะตระหนักดีว่าคุณค่าของชีวิตท่านนะบีไม่ใช่เรื่องธรรมดา อัลลอฮฺทรงบอกในอัลกุรอาน 2 อายะฮฺ
حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيراً لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ
“โดยแน่นอน สำหรับร่อซูลของอัลลอฮฺเป็นแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว สำหรับผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก และรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย” [อัลอะหฺซาบ 33:21]
คนที่ได้ตัวอย่างหรือแบบฉบับจากคนอื่นที่ไม่ใช่ร่อซูล คนที่ยังหลงในบุคคลอื่นจากท่านนะบี ติดตามเลียนแบบในทุกวาระ ทุกอย่าง คนเหล่านี้ยังไม่ศรัทธาในอัลลอฮฺและวันกิยามะฮฺอย่างแท้จริง ฉะนั้น การศึกษาชีวประวัติของท่านนะบีในยุคปัจจุบันถือว่ามีคุณค่าสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าศึกษาชีวประวัติของท่านนะบีในเชิงเพิ่มอีมาน ไม่ใช่ในเชิงเรียนรู้ประวัติเพียงอย่างเดียว เราจะเจาะลึกถึงเหตุการณ์เพื่อให้มีแบบฉบับการปฏิบัติในชีวิตของเรา
วันนี้มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น แต่ถ้าเราศึกษาประวัติของท่านนะบีอย่างดี สังคมปัจจุบันนี้จะไม่ปั่นป่วน มุสลิมคนหนึ่งถูกอุ้ม สังคมมุสลิมเปราะบางบอกว่าเราประสบความหายนะ ไม่เหลือแล้ว ซึ่งในชีวประวัติของท่านนะบีจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา
ฝันที่เป็นความจริง
ท่านนะบีได้รับวะฮียฺจากอัลลอฮฺ เมื่อท่านมีอายุ 40 ปี แต่ก่อนหน้านั้นท่านก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องวะฮียฺ แต่ไม่ใช่วะฮียฺแท้ ๆ มีหะดีษบันทึกโดยบุคอรียฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า ท่านนะบีได้เริ่มเข้าสู่วาระความเป็นนะบีด้วยฝันที่เป็นความจริง (*3*) บรรดานะบีและร่อซูลไม่ฝันเท็จ ไม่มีฝันร้าย เมื่อฝันอะไรต้องเป็นความจริง เช่นการฝันของท่านนะบีอิบรอฮีมว่าอัลลอฮฺทรงใช้ให้เชือดบุตรของท่าน (คืออิสมาอีล) มีหะดีษบทหนึ่งที่ท่านนบีกล่าวว่า รุยาของบรรดานะบีและร่อซูลทั้งหลายเป็นสัจธรรม ไม่ใช่ฝันร้าย
(*3*) ท่านนะบีกล่าวว่า ฝันมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ฝันที่เป็นความจริงหรือฝันดี และอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า อัลหุลมฺ (หรือ ฝันร้าย) สำหรับฝันดี หมายถึง การฝันถึงสิ่งดี ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เรียกว่า รุกยา มาจาก รุกยะฮฺ ซึ่งแปลว่า สัมผัส เห็นเอง แต่รุกยาไม่ได้เห็นจริง เห็นในฝัน ถ้าจะจำแนกระหว่างฝันดีกับฝันที่มาจากชัยฏอน คือ ฝันดีที่เป็นความจริงมาจากอัลลอฮฺ แต่ฝันร้ายมาจากชัยฏอน ท่านนะบีสอนว่า รุยา เป็นส่วนหนึ่งใน 40 ส่วนของความเป็นนะบี ท่านนะบีบอกว่าในยุคสุดท้ายของประชาชาติ ไม่มีอะไรที่เหลือจากเรื่องราวของความเป็นนะบี นอกจากเรื่องเดียวคือ การฝันดี (รุยา)
ท่านนะบีเริ่มต้นความเป็นนะบีด้วยการได้รับความฝัน(รุยา)จากอัลลอฮฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺบอกว่า จนกระทั่งไม่มีอะไรที่ท่านนะบีเห็น เว้นแต่เหมือนแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นช่วงตอนเช้า (*4*) ท่านหญิงอาอิชะฮฺเปรียบเทียบว่าความฝันของท่านนะบีเหมือนแสงสว่าง เพราะท่านนะบีจะฝันเห็นเรื่องราวที่จะมาอย่างชัดเจน ท่านนะบีเริ่มมีลักษณะการเป็นนะบีด้วยสิ่งเหล่านี้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน แม้กระทั่งคนกาเฟร คนกาเฟรก็มีการฝันดีและฝันจริง มีหลักฐานในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ในอัลกุรอานกาเฟรที่ฝันจริงคือกษัตริย์สมัยท่านนะบียูซุฟ และท่านนะบียูซุฟทำนายให้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าใครฝันจริงเป็นนะบี พวกตะรีกัตซูฟีชอบใช้เรื่องฝัน หลงบอกว่านะบีมาหา ไม่ต้องละหมาดซุบฮฺหรืออิชาอฺแล้ว มันยาก หรืออยู่สูงแล้ว ไม่ต้องละหมาดแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สร้างความคาดเคลื่อนในการเข้าใจศาสนา ระวังอย่าใช้เรื่องเหล่านี้ทำให้เราปลีกตัวจากศาสนา ไม่ให้ความสำคัญกับหลักการของศาสนา
(*4*) ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเราอยู่ในมีความมืด เมื่อมีแสงของดวงอาทิตย์ เราจะรู้คุณค่า ฉะนั้นจึงมีคนเปรียบเทียบว่า สัจธรรมเกิดเหมือนแสงตอนรุ่งเช้า เพราะก่อนช่วงเช้ามีความมืดเหมือนความเท็จ และสัจธรรมปรากฏเหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ตอนเช้า
อีกตัวอย่างหนึ่งคือคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปยึดมัสยิดหะรอมเมื่อปี ฮ.ศ.1400 กลุ่มของญุฮัยมาน (جهيمان) อ้างว่ามะหฺดีมาแล้ว เขาอ้างว่าฝันว่าคนนั้นเป็นมะหฺดี และฝันเหมือนกันหมดแสดงว่าเป็นความจริง เอาอาวุธเข้ามัสยิดหะรอม ฆ่าคนบริสุทธิ์ และเรียกร้องให้บัยอะฮฺต่อมะหฺดี แต่ที่จริงไม่ใช่ อันนี้ต้องระวัง
สำหรับท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความฝันจริงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าท่านไม่ธรรมดา ก่อนช่วงรับวะฮียฺท่านนะบีจะมีเรื่องเหล่านี้ นอกจากเรื่องวะฮียฺแล้ว ท่านนะบียังไม่เคยกราบหรือบูชาสักการะเจว็ดเลย ท่านนะบีไม่เคยดื่มสุรา ไม่เคยฟังเพลง ไม่เคยทำซินา ไม่เคยทำสิ่งที่เป็นความชั่วทั้งๆ ที่ท่านยังไม่เป็นนะบี ท่านไม่เคยโกหกจนกระทั่งชาวกุเรชเรียกท่านว่า “อัศศอดิก - คนที่พูดสัจจะ พูดจริง” และ “อัลอะมีน - มีอะมานะฮฺ มีความซื่อสัตย์” เรื่องนี้เป็นมติเอกฉันท์ของชาวกุเรชว่ามุฮัมมัดเป็นคนพูดจริงมากที่สุดและมีอะมานะฮฺมากที่สุด จนกระทั่งเมื่อได้รับวะฮียฺและเป็นร่อซูลแล้ว มีการปะทะ ต่อสู้ และต่อต้านกัน แต่ชาวกุเรชก็ยังต้องไปฝากเงินกับศัตรูของตัวเอง เมื่อท่านนะบีฮิจญเราะฮฺจึงต้องนำเงินไปคืนเจ้าของ
นี่คือเบื้องหลังหรือพื้นฐานของคนที่จะทำงานศาสนา ก่อนที่จะทำงานศาสนาต้องมีประวัติโปร่งใส ต้องมีมารยาทจริยธรรมที่สังคมยอมรับ และนักสังคมยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม เมื่อเขาเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเผยแผ่ในสังคม คนจะยอมรับ แต่คนที่มีประวัติที่เลวร้าย สังคมมักจะไม่ชอบหรือไม่ยอมรับ
ท่านนะบีเกิดในตระกูลที่ถือว่าดังที่สุดในเกาะอาหรับ เป็นบุคคลที่มีประวัติบรรพบุรุษที่ดีเลิศในชาวกุเรช แม้กระทั่งประวัติของท่านนะบีเอง เป็นประวัติของบุคคลที่บริสุทธิ์ที่สุด ในด้านพฤติกรรม มารยาทจริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์ของท่าน ทั้งสิ้นถือว่าเป็นแบบฉบับที่ดีที่สุด
การบูรณะกะอฺบะฮฺ
เมืองมักกะฮฺอยู่กลางลำธารระหว่างสองภูเขา ตรงช่วงลึก เมื่อมีฝนตกมักจะมีน้ำท่วม ก่อนที่ท่านนะบีเป็นนะบี มีเหตุการณ์น้ำท่วมกะอฺบะฮฺ ฝนตกหนัก กะอฺบะฮฺส่วนใหญ่พังไป ชาวกุเรชจึงเรียกร้องให้ชาวเมืองมักกะฮฺบริจาคเงินบริสุทธิ์ที่ไม่ปะปนดอกเบี้ย ผู้อาวุโสของกุเรชขึ้นปราศรัยบอกว่าเราจะสร้างกะอฺบะฮฺ - บ้านของอัลลอฮฺ ขอให้บริจาคเงินบริสุทธิ์ อย่าเอาเงินดอกเบี้ยมาปะปน อย่าเอาเงินหะรอมมาใช้ เราจะนำเงินบริสุทธิ์ไปถวายให้พระผู้เป็นเจ้า พวกกุเรชเชื่อว่ามีอัลลอฮฺ เชื่อว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า แต่เขามีพระเจ้าอื่นด้วย
ชาวกุเรชรวมทรัพย์สมบัติเพื่อสร้างกะอฺบะฮฺ แต่มีเงินไม่พอที่จะสร้างกะอฺบะฮฺให้เหมือนเดิม เพราะเดิมกะอฺบะฮฺมีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมยาว ๆ (ไม่มีรั้วเหมือนในปัจจุบัน) เมื่อเงินไม่พอ พวกเขาจึงสร้างอาคารส่วนหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนกัน ส่วนที่มีเงินไม่พอสร้างก็ทำเป็นรั้วเพื่อบ่งชี้ว่าตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของอัลกะอฺบะฮฺ
อุละมาอฺเรียกรั้วนี้ว่า อัลฮะฏีม แปลว่าส่วนที่พังไป คนส่วนมากเรียกว่า ฮิจญฺรอิสมาอีล หมายถึง ที่นอนหรือที่พักผ่อนของนะบีอิสมาอีล เพราะมีรายงานทางประวัติศาสตร์แต่ไม่ถือว่าเศาะฮี้ฮฺ ว่าตอนที่ท่านหญิงฮะญัร (ภรรยาท่านนะบีอิบรอฮีม) มาอยู่ที่มักกะฮฺ ได้พาท่านนะบีอิสมาอีลไปนอนตรงนั้น และมีอีกรายงานหนึ่งว่าท่านนะบีอิสมาอีลถูกฝังตรงนั้น แต่ใช้ไม่ได้ พวกตะรีกัตซูฟีมักนำมาใช้อ้างเรื่องการฝังคนในมัสยิด บอกว่านะบีอิสมาอีลก็ถูกฝังในมัสยิดหะรอม แต่เรื่องนี้ไม่มีที่มา ไม่มีรายงานเศาะฮี้ฮฺ ที่จะนำมาอ้างอิงได้
ชาวกุเรชเริ่มสร้างกะอฺบะฮฺตั้งแต่ฐานถึงจุดหินดำซึ่งสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตรกว่า(*5*) หินก้อนนี้ชาวกุเรชนำออกไปตอนที่รื้ออาคารกะอฺบะฮฺ ตอนสร้างกะอฺบะฮฺใหม่จะนำมาวาง ชาวกุเรชก็ขัดแย้งกันว่าใครที่จะมีสิทธิ์นำหินก้อนนี้มาตั้ง เผ่าหนึ่งบอกว่าเราบริจาคมากกว่า อีกเผ่าบอกว่าบรรพบุรุษฉันเป็นคนสร้างอาคาร ตั้งแต่สมัยท่านยังไม่เกิด ทะเลาะกันจนกระทั่งชาวกุเรชเข้าบ้านไปเก็บอาวุธเพื่อทะเลาะและสู้กัน คนอาวุโสหลายท่านบอกให้หยุด แล้วใครเป็นคนแรกที่เข้าประตูเมืองมักกะฮฺแห่งนี้ เรายอมรับให้เขาเป็นผู้ตัดสิน
(*5*) หินดำเป็นหินก้อนหนึ่ง ท่านนะบีบอกว่าเป็นหินที่มาจากสวรรค์ มีสีขาวมาก แต่เนื่องจากคนมักมาขอบะรอกัต ลูบหิน จูบหิน หรือกราบบนหิน จึงกลายเป็นหินสีดำ เป็นหินที่มีเกียรติที่สุดในส่วนอาคารของกะอฺบะฮฺ เพราะไม่มีส่วนอื่นของกะอฺบะฮฺที่ต้องให้เกียรตินอกจากหินดำ
ท่านนะบี (ขณะนั้นยังไม่เป็นนะบี) เดินเข้ามา ชาวกุเรชสงบ ไม่มีใครแย้งว่าคนนี้ยังเป็นเด็ก คนนี้ไม่อาวุโส ทุกคนยอมรับกันหมด(*6*) พวกกุเรชเล่าปัญหาให้ท่านนะบี ท่านนะบีจึงเสนอความคิดให้นำหินดำวางบนผ้าผืนใหญ่ ให้หัวหน้าทุกเผ่าช่วยกันยกมายังกะอฺบะฮฺ แล้วท่านนบีเป็นผู้หยิบหินก้อนนี้มาตั้ง ชาวกุเรชไม่ขัดแย้งกันเลย ไม่มีใครคัดค้าน และถือว่าเป็นเกียรติสูงส่งของท่านนะบีที่ได้จัดการปัญหาที่อาจทำให้ชาวกุเรชแตกแยกไม่มีชิ้นดี เป็นเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าสมควรสำหรับท่านที่จะเป็นผู้นำของสังคม
(*6*) ในตอนนั้น ท่านนะบียังถือว่าไม่อาวุโส ไม่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกุเรช แต่เป็นคนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคม ท่านได้รับฉายาว่า อัศศอดิก-พูดจริง และ อัลอะมีน-มีความซื่อสัตย์
เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, |
|