จุดกำเนิดวิชา อุซูลุ้ลฟิกฮฺ
วัน จันทร์ 31 ม.ค. 11 @ 21:39
หัวข้อ: อุศูลุ้ลฟิกฮ์




โดย....kolis_mala

อุซูลุ้ลฟิกฮ์เป็นวิชาด้านกฎหมายอิสลามที่มากมายไปด้วยคุณค่าและยิ่งใหญ่ในด้านประโยชน์ซึ่งนักปราชญ์ในแขนงต่างๆไม่ว่าในแขนงตัฟซีรหรืออัลฮะดีษหรือฟิกฮ์จะไม่สามารถออกกฎหมายแห่งบัญญัติอิสลามได้ เว้นแต่ต้องรู้ในวิชานี้ อุซูลุลฟิกฮ์จึงเป็นวิชาหลักของการวินิจฉัยกฎหมายอิสลามซึ่งจะขาดเสียมิได้

ก่อนจะมาเป็นวิชาอุซูลุลฟิกฮ์

ในสมัยท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลฯ อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา เพื่อจะบรรยายถึงสิ่งที่เกิด ขึ้นหรือเพื่อที่จะตอบคำถามเหล่าซอฮาบะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม จึงไม่มีความจำเป็นในเรื่องของการวินิจฉัยกฏหมาย เพราะท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ ขณะอยู่กับพวกเขาเป็นผู้คอยให้คำชี้ขาดในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นแหล่งที่มาของบัญญัติอิสลามจึงมีเพียงแค่อัลกุรอาน และอัลฮะดีษที่มาชี้แจงและอธิบายสิ่งที่อัลกุรอานบอกให้อย่างสรุป

อนึ่ง สำหรับการวินิจฉัยในสมัยท่านศาสดานั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่นับว่าเป็นแหล่งที่มาของบัญญัติอิสลาม เพราะว่าการวินิจฉัยเมื่อมาจากนบีก็คือ วิวรณ์ที่ถูกประทานลงมาแก่ท่าน เพื่อที่จะยืนยันการวินิจฉัยอันนั้นหรือเพื่อที่จะแก้ไขและอธิบายสิ่งที่พลั้งพลาดในการวินิจฉัยเช่นกรณีสงครามบัดร์ซึ่งมีสองความคิดเห็นในเรื่องการจัดการกับเชลย คือ

1. ให้ทำการไถ่ตัวได้

2. ให้ฆ่าสถานเดียว เนื่องจากพวกตั้งภาคีเคยกระทำกับมุอ์มินอย่างโหดเหี้ยมทารุณ แต่ท่านนบีก็เอนเอียงไปยังความเห็นแรก และได้ตัดสินตามนั้น อัลกุรอานจึงถูกประทานลงมาติเตียนท่านนบี

( مَاكَانَ ِلنَبِيٍّ أَنْ يَكُوْنَ لَهُ أَسْرَىحَتَّىيُثْخِنُ فِىاْلأَرْضِ تُرِيْدُوْنَ عَرَضَ الدُّنْيَاوَاللهُ يُرِيْدُاْلآخِرَةَ وَاللهِ عَزِبْزٌحَكِيْمٌ )

ซึ่งมีใจความว่า ﴾ ไม่บังควรแก่ศาสดาคนใดเลยที่จะมีเชลยไว้ ( เพื่อเรียกค่าไถ่ในขณะที่ฝ่ายตนยังอ่อนแออยู่ )จนกว่าเขาจะทำการสู้รบจนชนะในแผ่นดิน พวกเจ้าปรารถนา ( ค่าไถ่เชลยอันเป็น ) ผลประ โยชน์ ( เพียงเล็กน้อย )ของโลกนี้ แต่อัลลอฮ์ทรงปรารถนาโลกหน้า และอัลลอฮ์ทรงอำนาจยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง ﴿ ซูเราะห์อัลอันฟาล อายะห์ที่ 67

และการวินิจฉัยของซอฮาบะห์นั้นมีเพียงเล็กน้อยเช่นกัน ดังกล่าวนั้นจะเป็นเรื่องของปัญหาที่จะล่าช้าเสียมิได้และพวกเขาอยู่ในเมืองที่ห่างไกล ยากต่อการกลับมาให้นบีชี้ขาด และอีกตอนหนึ่งขณะที่ท่านนบีได้ประสงค์ที่จะแต่งตั้งมุอาซ บุตร ญะบัลไปเมืองยะมัน ท่านนบี ศ็อลฯ ได้กล่าวแก่เขาว่า

“ ท่านจะตัดสินอย่างไรเมื่อมีปัญหาถูกเสนอแก่ท่าน เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าจะตัดสินด้วยคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ท่านนบีได้กล่าวว่า ถ้าหากท่านไม่พบว่ามีในคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ เขากล่าวว่า จะตัดสินด้วยแนวทางของร่อซูลุลลอฮ์ ท่านนบีได้กล่าวอีกว่า ถ้าหากท่านไม่พบว่ามีในคัมภีร์และแนวทางของท่านร่อซู้ล ศ็อลฯ เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยด้วยความคิดเห็นของข้าพเจ้า และจะไม่เลินเล่อต่อคำตัดสิน ” ท่านนบี ศ็อลฯ ตบอกเขาและกล่าวว่า การสรรเสริญเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงให้ความเห็นชอบแก่ทูตของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ในสิ่งที่ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์พึงพอใจ ”

จากนั้นท่านนบี ศ็อลฯ ก็จะยืนยันการวินิจฉัยของพวกเขา ถ้าหากว่าไม่ถูกต้อง ท่านนบีก็จะอธิบายถึงแนวทางที่ถูกต้องของการวินิจฉัย และท่านได้อนุญาตให้ส่วนหนึ่งจากซ่อฮาบะห์ทำการวินิจฉัยปัญหา โดยที่ท่านเองก็อยู่ด้วย เพื่อที่จะฝึกฝนพวกเขาในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ต่อจากท่าน

สาเหตุที่ผลักดันให้ทำการรวบรวมบันทึกวิชาอุซูลุลฟิกฮ์และผู้ที่ริเริ่มกำหนดวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งจากศาสตร์ของศาสนา

หลังจากนบีเสียชีวิตไปแล้ว ซ่อฮาบะห์มีความจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการวินิจฉัย และพวกเขากระทำการดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยมด้วยสติปัญญาที่หลักแหลมและบริสุทธิ์ใจและพวกเขาเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่องซุนนะห์และมูลเหตุแห่งการพระราชทานอัลกุรอาน เมื่อถึงยุคบรรดาตาบิอีนและตาบิอิตตาบิอีน แหล่งที่มาของบัญญัติศาสนาก็ยังคงเหมือนกับยุคของซอฮาบะห์คือ คัมภีร์อัลกุรอาน, ซุนนะห์ท่านร่อซู้ล และกิยาส และได้เพิ่มไปถึงการตัดสินชี้ขาดของซอฮาบะห์(فَتَاوَىالصَّحَابَةِ ) ซึ่งทั้งซอฮาบะห์และตาบิอีนค้นคว้าและวิจัยถึงเหตุผลของกฏหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่มาเป็นตัวบทหรือถูกวินิจฉัยมาแล้วก็ตาม เพื่อที่จะนำไปเปรียบเทียบต่อสิ่งที่ไม่มีตัวบทบ่งบอกเอาไว้
หลักการวิชาอุซูลุลฟิกฮ์จึงเริ่มปรากฏชัดในยุคของซอฮาบะห์ ถึงแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่มันก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงยุคของอิหม่ามทั้งสี่ และผู้ที่ริเริ่มรวบรวมวิชานี้เป็นคนแรกคือ อิหม่ามมุฮำมัดบินอิดรีสอัชชาฟิอี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์ ซึ่งท่านเสียชีวิตในฮิจเราะห์ศักราชที่ 204 ท่านมีความคิดเห็นที่จะรวบรวมวิชานี้ จากหลายสาเหตุด้วยกัน

1. การมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสำนักอัลฮะดีษที่มะดีนะห์และสำนักความคิดที่แบกแดด โดยที่สำนักแรกนั้น เพียงพอด้วยตัวบทกฏหมายที่แน่นอน และปัญหาใหม่ๆก็เกิดขึ้นน้อยมาก สำหรับสำนักที่สองนั้น มีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย พวกเขาจึงใช้ความคิดในการตัดสินปัญหาจนเป็นที่กว้างขวางในเรื่องนี้ กระทั่งเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นสถาบันการใช้ความคิดเห็น

2. เกิดปัญหาใหม่ๆ มากมายในแต่ละวัน และปัญหาเหล่านั้นจำเป็นต้องมีการตัดสิน นักวินิจฉัยต้องพิจารณาในปัญหานั้น เมื่อพบว่าระหว่างปัญหาใหม่กับปัญหาที่มีตัวบทอยู่แล้วคล้ายคลึงกัน และมีสาเหตุ ( อิลละห์) ของฮุกุ่มในปัญหาที่มีตัวบทมีอยู่ในปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ก็ให้กฏหมายจากตัวบทเดิมใช้กับปัญหาในแขนงนั้นได้

3. อ่อนในหลักภาษาอาหรับ อันเป็นผลเนื่องมาจากการปะปนกันของภาษาอาหรับกับภาษาอื่น

4. ไกลยุคกันระหว่างท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ กับยุคของท่านอิหม่ามอัชชาฟิอี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์ ท่านอิหม่ามตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า ถึงเวลาแล้ว และสติปัญญาเต็มเปี่ยมแล้ว ท่านจึงบันทึกหนังสือ الرِّسَالَةُ ของท่านที่เป็นที่เลื่องลือต่อมาในภายหลัง ท่านเริ่มแต่งหนังสือเล่มนี้ที่กรุงแบกแดด หลังจากนั้น กลับมาปรับปรุงอีกครั้งที่อียิปต์ และได้บอกหลักการต่างๆไว้อย่างมากมายที่จำเป็นต่อนักวินิจฉัย (มุจตะฮิด) ในการที่จะรู้ถึงแก่นของอุซูลุลฟิกฮ์ ด้วยเหตุนี้เอง เราสามารถพูดได้ว่า ผู้ที่ได้วางหลักวิชานี้เป็นคนแรกคือท่านอิหม่ามชาฟิอี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์

นิยามของอุซูลุ้ลฟิกฮ์

อุซูลุ้ลฟิกฮ์คือวิชาที่ว่าด้วยหลักการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยกฏหมายด้านฟิกฮ์จากหลักฐานแบบขยายความ วิชานี้จะค้นคว้า วิจัยจากหลักฐานแบบสรุปก่อน นั่นก็คือ อัลกุรอาน ซุนนะห์ที่อธิบายอัลกุรอาน อิจญมาอ์ กิยาส และอื่นๆ

เช่นเดียวกัน วิชานี้จะค้นคว้าถึงประเภทของหลักฐานดังกล่าว เช่น บัญญัติใช้ บัญญัติห้าม สิ่งที่ครอบคลุมทั่วไปจากคัมภีร์อัลกุรอานและอัซซุนนะห์ และเช่นเดียวกันการลงมติแบบออกเสียง ( إِجْمَاعٌ قَوْلِيٌّ ) และลงมติแบบไม่ออกเสียง ( إِجْمَاعٌ سَكُوْتِيٌّ ) และการเทียบเหตุผลจากตัวบทและจากการวินิจฉัย ตลอดจนประเภทอื่นๆของหลักฐาน

เนื้อหาของวิชาอุซูลุลฟิกฮ์

ปราชญ์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าเนื้อหาของวิชานี้คือ หลักฐานต่างๆ แบบสรุปที่จะนำไปสู่กฎหมายโดยใช้การวินิจฉัย และการให้น้ำหนักในกรณีที่กฏหมายขัดแย้งกันเอง

ประโยชน์ของอุซูลุลฟิกฮ์

สำหรับวิชาอุซุลุลฟิกฮ์นั้นมีประโยชน์อยู่ 2 ประการด้วยกัน

1. ประโยชน์กลับไปสู่นักวินิจฉัยกฏหมายเอง คือเขาสามารถที่จะทำการวินิจฉัยกฏหมายด้านฟิกฮ์จากหลักฐานแบบขยายความ เพราะผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในหลักการของอุซูลุลฟิกฮ์ จะไม่สามารถออกกฏหมายจากหลักฐานได้

2. ประโยชน์แก่ผู้ตามคำวินิจฉัย ในกฏหมายของฟิกฮ์คือสามารถที่จะเปรียบเทียบระหว่างหลักฐานของผู้นำมัซฮับที่เขาสังกัดอยู่กับหลักฐานของผู้นำมัซฮับอื่นๆ เพื่อเขาจะได้มั่นใจในสิ่งที่เขาตาม







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=412