“อัศ-ศ็อบรฺ”
วัน เสาร์ 07 มี.ค. 09 @ 02:13
หัวข้อ: บทความและแง่คิด


“อัศ-ศ็อบรฺ” 
                                                                                  โดย shabab kolbunsalim

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
السلام عليكم ورحمة الله وبركا ته 

         
           หากจะพูดถึงคำว่า “อัศ-ศ็อบรฺ” `หรือความอดทน หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่าอันที่แท้จริงแล้ว ความหมายของคำว่า อดทน มันคืออะไรหรือ มันหมายความว่าอย่างไรหรือ แล้วมันจะมีประโยชน์อันใดหรือ ซึ่งหากเราจะถามพวกที่ไม่ใช่มุสลิม เขาคงจะเข้าใจว่า ความอดทน ก็คือ การอดกลั้น การไม่ตอบโต้ หรือการไม่เคลื่อนไหวการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาเป็นรูปธรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เขานั้นประสบ แต่พี่น้องผู้มีอีหม่านเอ๋ย พี่น้องรู้ไหม คำว่า อดทน ในทางความหมายของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น เขาให้ความหมายกับคำๆนี้มากไปกว่า ความหมายของการอดกลั้น การไม่ตอบโต้หรือดั่งที่กล่าวมาแล้วมากมายนัก อันเนื่องจากเขาทั้งหลายนั้น รับรู้และเข้าใจตามความหมายของคำว่า อดทน ตามที่พระผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินทั้งหลายได้ระบุให้เขาทั้งหลายนั้นเข้าใจกัน
 
           มีคนสักกี่คนที่ทราบว่า หลักการในการอดทนนั้น ค่อนข้างยากนักสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในยามที่เราสบาย (พูดง่ายๆคือ) อดทนในยามที่เราสบาย ยากและลำบากกว่าการอดทนในยามที่เราลำบาก เรากำลังพูดถึงความเป็นจริง เพราะโดยปกติแล้วในความเข้าใจของเราคือ เป็นการยากที่จะอดทนในยามที่เราลำบากมากกว่าในยามที่เราสบาย ในช่วงที่เราสบาย เราต้องอดทนอย่างไรหรือ? เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การอดทนนั้นมีสองหลักเกณฑ์ และหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดของการอดทนคือการที่เราต้องระงับ ยับยั้ง การกระทำที่จะทำให้อัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่พอพระทัย และต้องทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) พอพระทัยโดยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหลักเกณฑ์อีกประการหนึ่งคือ การที่เราปล่อยวางในยามที่เราประสบปัญหา

           เมื่อไหร่หรือที่เราต้องยับยั้งการกระทำที่จะทำให้อัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่พอพระทัย? เวลานั้นจะมาหาเราในยามที่เราสุขสบาย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดี ที่เราหวัง และประสบความสำเร็จทุกประการ มันจะเป็นเวลาที่เรามักจะไม่จงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) และเป็นเวลาที่ง่ายที่สุด ที่คนๆนึงจะขัดขืนอัลลอฮ์ (ซบ.) การที่เราจะอดทนโดยยับยั้งตัวเราไม่ให้ทำในสิ่งที่ผิดโดยการทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในทางที่เราหวัง และนี่คือเวลาที่ยากที่สุดสำหรับการอดทน

          ในความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นว่าการอดทนในยามที่เราลำบาก แม้แต่กาเฟรยังทำได้ ความอดทนของพวกเขาออกมาจากสัญชาติญาณของความเป็นคน ลูกผู้ชายถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ “ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้“ ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนเขาจะไม่ร้องไห้ ซึ่งมันมาจากความเป็นลูกผู้ชายของเขา หรือการอดทนของเขาเกิดจากความคิดที่ใช้เหตุผล “ต่อให้เศร้าไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา“ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าแม้แต่กาเฟรก็อดทนได้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ศรัทธา แต่แน่นอนความอดทนที่เกิดจากการกระทำโดยผู้ศรัทธานั้น เป็นเพราะความเข้าใจในสัจธรรมของสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับกาเฟรแล้ว การที่ต้องอดทนในยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่เขาหวัง เขาต้องการนั้น เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งเดียวที่ทำให้คนๆนึงอดทน อดทนที่จะทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) สั่งและละเว้นในสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ห้าม คือสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ “อีมาน“

 


          ความอดทน หรือ “อัศ-ศ็อบรฺ” คือคุณสมบัติที่เรากำลังจะพูดถึง  ถ้าอีมานและอามัลศอลิหฺ คือเงื่อนไขของการเข้าสวรรค์ .. อัศ-ศ็อบรฺ ก็คือปัจจัยรองลงมาที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะเหตุใด?  เป็นวิสัยดั้งเดิมที่อัลลอฮฺกำหนดมาแล้วว่าผู้ศรัทธาต่อพระองค์จะต้องถูกทดสอบ !!! ดั่งที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานที่ว่า (أَحَسِبَ النَّاسُ أَنْ يُتْرَكُوا أَنْ يَقُولُوا آمَنَّا وَهُمْ لا يُفْتَنُونَ، وَلَقَدْ فَتَنَّا الَّذِينَ مِنْ قَبْلِهِمْ فَلَيَعْلَمَنَّ اللَّهُ الَّذِينَ صَدَقُوا وَلَيَعْلَمَنَّ الْكَاذِبِينَ) (سورة العنكبوت: 2-3)

         ความว่า  "หรือมนุษย์คาดคิดว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวว่า “เราได้ศรัทธาแล้ว” โดยปราศจากการทดสอบใดๆ ? แท้จริง เราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น เพื่ออัลลอฮฺจะได้รู้บรรดาผู้ที่สัจจริงและจะได้รู้บรรดาผู้ที่โกหก" อีมานไม่ใช่ของราคาถูก แน่นอนที่สุด เพราะผลตอบแทนของมันคือสวรรค์ จึงต้องมีการคัดสรรผู้ที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่นี้จริงๆ นี่คือความหมายที่อัลลอฮฺบอกว่าเพื่อพระองค์จะได้รู้ว่าใครที่สัจจริงในการศรัทธาต่อพระองค์และใครที่ไม่สัจจริง นั่นคือเพื่อเป็นการจำแนกมนุษย์ตามระดับความศรัทธาของพวกเขา เพื่อให้ผ่านบรรลุการถูกทดสอบ ผู้เข้าสอบทุกคนย่อมต้องอาศัยความอดทนเป็นธรรมดา

          มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับบททดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่หลวงกว่าและหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่นหลายเท่า ทั้งนี้ เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมิอาจจะเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้อีก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม พูดถึงการทดสอบของมนุษย์ว่า “ดุนยาคือคุกของมุอ์มิน และเป็นสวรรค์ของกาฟิรฺ” (มุสลิม 2956) สุบหานัลลอฮฺ ! มีสำนวนใดที่จะเปรียบเปรยได้ชัดเจนมากกว่านี้ ? อุละมาอ์ท่านหนึ่งถูกถามว่า “แล้วมุอ์มินที่มีชีวิตสุขสบาย มีทรัพย์สมบัติมากมายในโลกนี้เล่า มันจะเป็นคุกสำหรับเขาได้อย่างไร? ในขณะที่กาฟิรฺบางคนแทบจะไม่มีเสื้อผ้าใส่ อย่างนี้จะเรียกว่าสวรรค์สำหรับเขาเช่นนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า “ใช่ ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ไหนเลยจะมากกว่าความสุขในสวรรค์ ถ้าจะเทียบกับความสถาพรในโลกหน้าอันนิรันดร์แล้ว ชีวิตมุอ์มินผู้นั้นในดุนยานี้ยังเหมือนอยู่ในคุกอยู่วันยังค่ำ ส่วนกาฟิรฺนั้นเล่า ชีวิตเขาในโลกที่มีเสื้อผ้าใส่เพียงตัวเดียวยังนับว่าเป็นสวรรค์สำหรับเขา ถ้าจะเทียบกับการถูกทรมานทรกรรมและถูกจองจำในนรก” !!!

อัลลอฮุอักบัรฺ ! ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ !

         อย่างไรก็ดี การทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดของมุอ์มินผู้ศรัทธามิได้เป็นการทดสอบในเรื่องปัจจัยยังชีพ นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง(ดู อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 155) แต่การทดสอบจริงของผู้มีอีมานลึกซึ้งกว่านั้น ตามระดับชั้นของความศรัทธาและปัจจัยทั้งภายในภายนอก

         คำว่า “อีมาน” ที่เราแปลกันว่าศรัทธานั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเชื่อ แต่ยังรวมถึงการยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นเส้นทางของมุอ์มินจริงๆ จึงเป็นเส้นทางของการขวนขวายความสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อค้นหาความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาล นี่คือสิ่งที่ อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจว่า “อีมาน มิใช่เป็นการเพ้อฝันหรือการตกแต่งให้ดูวิจิตร หากแต่มันคือสิ่งที่ปักหลักอยู่ในใจ และแสดงออกให้เห็นด้วยการปฏิบัติ” (มุศ็อนนัฟ อิบนิ อบี ชัยบะฮฺ 30351, 35211) การปฏิบัติที่ว่า คือการน้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺ ด้วยการแสดงออกตามแบบฉบับของท่านศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ ท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้ตรงและถูกต้องมากที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเหมือนแค่การพูดด้วยปาก หากแต่ต้องการความจริงจังและจริงใจที่สูงส่งยิ่ง นอกจากจะต้องปฏิบัติความดีแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังต้องละทิ้งและห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย เพราะความดีจะสมบูรณ์ได้เช่นไรถ้าหากความชั่วไม่ถูกละทิ้ง บางทีบางครั้ง การละจากความชั่วใช่ว่าจะง่ายไปกว่าการทำดี เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยบอกว่า “สวรรค์ถูกห้อมล้อมด้วยความน่ารังเกียจ(สิ่งที่ขัดกับอารมณ์) และนรกถูกห้อมล้อมด้วยความปรารถนาของตัณหา” (มุสลิม 2822)
         สรุปแล้ว ทั้งสองด้านล้วนต้องอาศัยความอดทนด้วยกันทั้งนั้น
 
         อัลลอฮฺได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า (قُلْ يَا عِبَادِ الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا رَبَّكُمْ لِلَّذِينَ أَحْسَنُوا فِي هَذِهِ الدُّنْيَا حَسَنَةٌ وَأَرْضُ اللَّهِ وَاسِعَةٌ إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ) (سورة الزمر: 10) ความว่า "จงกล่าวต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด สำหรับผู้ทำดีนั้น ในโลกนี้เขาก็จะได้รับความดี(นับประสาอะไรกับในวันอาคิเราะฮฺ) แผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างขวางนัก แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มากมายโดยมิต้องคำนวณ "

           ประการแรก อายะฮฺนี้สั่งให้ “ผู้ศรัทธา” ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าศรัทธาแล้วก็มิใช่ว่าจะยำเกรงต่อพระองค์ ทว่าต้องพยายามเพื่อให้เกิดความยำเกรง ด้วยการศึกษาคำสอนต่างๆ ของพระองค์และปฏิบัติตามนั้น
              ประการต่อมา ในอายะฮฺบอกว่า ผู้ทำดีจะได้รับผลตอบแทนแม้กระทั่งในโลกนี้ ชัดเจนยิ่งว่าการศรัทธาไม่ใช่การอยู่เฉยๆ แต่เป็นการลงมือทำและต้องทำให้ดีที่สุด เพราะคำว่า “อิหฺสาน” ในอายะฮฺข้างต้น หมายถึง ทำให้ดีถึงที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ จากนั้น อัลลอฮฺได้แทรกว่า แผ่นดินของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นการบอกให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายทราบว่า หากมีอุปสรรคใดๆ ขวางกั้นในการปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮฺ ณ ที่หนึ่งที่ใด ก็จงทนต่อสู้จนกว่าจะหมดวิธีแล้วจึงหาทางออกไปยังที่อื่นเสีย ทั้งสามประการข้างต้น มีปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จอันเดียวกัน นั่นคือต้องอดทน 

          ดังนั้นผลสรุปที่ออกมาจึงยิ่งใหญ่มาก พระองค์ลงท้ายอายะฮฺด้วยการประกาศว่า สำหรับผู้อดทน ไม่ว่าจะอดทนเพื่อยกระดับความยำเกรง อดทนเพื่อทำความดี หรืออดทนต่ออุปสรรคในการดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลาม ทุกคนล้วนจะได้รับผลตอบแทนที่มิอาจคำนวณจากพระองค์ผู้ทรงเมตตาและปรานียิ่ง ผลตอบแทนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากสวรรค์วิมานอันนิรันดร ...ที่กล่าวมาข้างต้น คือการต้องอดทนของผู้ศรัทธาในกระบวนการยกระดับตนเอง เป็นการอดทนในชั้นปัจเจกบุคคล

          ความอดทนในระดับที่สูงขึ้น คือการอดทนในการเป็นผู้ศรัทธาที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง พร้อมๆ กับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของตนเองท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “มุอ์มินที่คลุกคลีกับคนอื่นและอดทนต่อความเดือดร้อนที่มาจากพวกเขา ย่อมดีกว่า/ได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่กว่ามุอ์มินที่ไม่คลุกคลีกับคนอื่นและไม่อดทนต่อความเดือดร้อนที่ต้องประสบจากพวกเขา” (อิบนุ มาญะฮฺ 4032 ,เป็นหะดีษหะสัน ดู ฟัตหุล บารีย์ 10:512) ผู้ศรัทธาไม่ใช่ผู้สันโดษ นอกจากจะต้องรับผิดชอบดูแลและสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺแล้ว ยังต้องเป็นคนที่อยู่กับคนอื่นในสังคมด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการนำสิ่งดีๆ ให้กับพวกเขา และหักห้ามพวกเขาจากการละเมิดบัญญัติของอัลลอฮฺ ทั้งปวงนี้ไม่ใช่เรื่องเบาๆ เลยสักนิด ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงสอนให้พวกเราหมั่นขอดุอาอ์ต่อพระองค์ว่า
             (رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَاماً) (سورة الفرقان: من الآية 74)
            ความว่า "โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ได้โปรดประทานแก่เราจากคู่ครองของเราและลูกหลานของเราซึ่งความรื่นรมย์/ความเย็นตาเย็นใจ และโปรดประทานให้เราเป็นผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง"

         อายะฮฺนี้สอนเราอย่างชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว อันเป็นแก้วตาดวงใจของเรา และยังต้องเป็น “ผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง”“อัล-อัมร์ บิลมะอฺรูฟ วะ อัน-นะฮฺย์ อะนิล มุงกัรฺ” หรือการเชิญชวนสู่ความดีและการหักห้ามจากความชั่ว นั่นคือผู้ที่เอาใจใส่ต่อสังคมรอบข้าง ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ร่วมพัฒนา ร่วมแก้ปัญหา และไม่ละเลยในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ในนิยามที่เรียกกันว่า โดยนัยแล้ว อายะฮฺนี้บอกเราอีกว่า จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะครอบครัวของเราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ทั้งเราและสมาชิกในครอบครัวจะดำรงชีวิตอย่างเปี่ยมสุขและปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าหากสังคมรอบข้างที่ต้องออกไปพบปะทุกวี่วันมีแต่ความเละเทะ ทั้งการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม สองประการดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุนี้ ในอายะฮฺต่อมาอัลลอฮฺจึงประกาศอีกครั้งถึงผลตอบแทนจากการอดทนในเรื่องเหล่านี้ว่า      (أُولَئِكَ يُجْزَوْنَ الْغُرْفَةَ بِمَا صَبَرُوا وَيُلَقَّوْنَ فِيهَا تَحِيَّةً وَسَلاماً) (سورة الفرقان: 75)  ความว่า "พวกเขาเหล่านั้น จะได้รับผลตอบแทนเป็นห้องหับในวิมานอันสูงส่ง ด้วยเหตุที่พวกเขาอดทน และจะได้รับการทักทายในนั้นด้วยคำกล่าวต้อนรับและสลาม" ถึงแม้ผลตอบแทนดังกล่าวจะถูกประทานแก่เหล่าอิบาดุรเราะห์มานที่มีคุณสมบัติทั้งหมดตามอายะฮฺที่ 63-74 ในสูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน แต่ข้อสังเกตที่งดงามยิ่ง คือการจัดลำดับอายะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺได้ระบุผลตอบแทนนี้ทันทีหลังอายะฮฺที่พระองค์ทรงชี้นำให้พวกเรากล่าวดุอาอ์เพื่อให้ได้ครอบครัวที่เปี่ยมสุขและสังคมอุดมสันติ ที่สำคัญที่สุด ณ จุดนี้ก็คือ “ความอดทน” ยังคงถูกระบุว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ความปรารถนาที่เราใฝ่ฝันบรรลุเป้าหมาย และได้รับผลตอบแทนอันเปี่ยมยิ่งด้วยเกียรติจากพระองค์อัลลอฮฺ ในสวรรค์วิมานแห่งอาคิเราะฮฺ
อัลลอฮฺอักบัรฺ !

         อันดับสุดท้าย คือความอดทนในระดับสากล หรือระดับประชาชาติ เป็นความอดทนในกระบวนการปะทะขัดแย้งระหว่าง “อัล-ฮัก” กับ “อัล-บาฏิล” ระหว่างรัศมีแห่งอิสลามกับความมืดมนของญาฮีลิยะฮฺ ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่รับใช้พระเจ้ากับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์ การยื้อแย่งระหว่างสองฝ่ายนี้มีมานมนาน และจะไม่จบสิ้นตราบเท่าที่ยังมีโลกให้มนุษย์ได้อาศัย นอกเหนือจากที่มันเป็นการปะทะในรูปแบบหลากหลายกระบวนท่า แสดงออกมาทั้งในลักษณะของสงครามทางอาวุธ ทางยุทธศาสตร์ ทางความคิด ทางวัฒนธรรม ทางอารยธรรม ทางจิตวิทยา ทางเศรษฐกิจ และอีกมากต่อมาก ทั้งสองฝ่ายเคยยึดครองทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ณ วันนี้ เห็นได้ชัดเจนยิ่งว่า บรรดาผู้น้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺอยู่ในข้างที่เพลี่ยงพล้ำอ่อนแอ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลับเป็นมากกว่ามหาอำนาจ หยิ่งผยองลำพองตน ทะนงเหนือผู้คนทุกผู้บนแผ่นดิน ทำตนเสมือนเป็นพระเจ้า (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราด้วยเถิด) ประชาชาติแห่งอีมาน บางครั้งก็เกิดความรู้สึกท้อแท้ ขยาด หมดหวัง โศกเศร้า ฯลฯ เมื่อมองไม่เห็นว่าทางไหนที่จะเป็นทางรอดและนำพวกเขาให้สามารถต่อกรกับมหาอำนาจผู้ไม่ยุติธรรม ซึ่งครอบครองความก้าวหน้าทันสมัยทุกประเภทอยู่ในมือ เหนือคนอื่นทั้งมวลในโลกแต่ทว่า อัลลอฮฺทรงเตือนให้เราสำนึกว่า
(لا يَغُرَّنَّكَ تَقَلُّبُ الَّذِينَ كَفَرُوا فِي الْبِلادِ، مَتَاعٌ قَلِيلٌ ثُمَّ مَأْوَاهُمْ جَهَنَّمُ وَبِئْسَ الْمِهَادُ، لَكِنِ الَّذِينَ اتَّقَوْا رَبَّهُمْ لَهُمْ جَنَّاتٌ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا نُزُلاً مِنْ عِنْدِ اللَّهِ وَمَا عِنْدَ اللَّهِ خَيْرٌ لِلْأَبْرَارِ) (سورة آل عمران: 196- 198) ความว่า "เจ้าอย่าได้หลงตามความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ปฏิเสธในดินแดนต่างๆ มันเป็นเพียงความหฤหรรษ์อันเล็กน้อย แล้วที่กลับคืนของพวกเขาก็คือนรกญะฮันนัม และมันเป็นที่พำนักอันเลวยิ่ง ทว่าบรรดาผู้ที่ยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขาต่างหากเล่า ที่มีสวรรค์เตรียมไว้สำหรับพวกเขา มีสายน้ำต่างๆ ไหลอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะอยู่อาศัยในนั้นอย่างถาวร เป็นการต้อนรับ/ตอบแทนจากอัลลอฮฺ และสิ่งที่อยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นย่อมดีกว่าสำหรับปวงผู้มีคุณธรรม" สุบหานัลลอฮฺ ! มีเหตุอันใดที่ทำให้เราต้องขยาดและท้อแท้ ในเมื่ออำนาจที่พวกเขาครอบครองเป็นเพียงแค่ “ความหฤหรรษ์อันน้อยนิด”“ญะฮันนัม” ! และในเมื่อบั้นปลายของพวกเขาจะต้องกลับไปสู่

         ไหนเล่าความเข้มแข็งของผู้ศรัทธา ไหนเล่าพลังอันยิ่งใหญ่ของความยำเกรง ที่พระองค์สัญญาว่าจะตอบแทนให้ด้วยสวรรค์อันนิรันดร์กาล !?
         แน่แท้ มีเพียงแต่ “ความอดทน” เท่านั้น ที่จะประคับประคองให้เรายืนหยัดอยู่เส้นทางแห่งการต่อสู้นี้ได้ ดังนั้น ในท้ายสูเราะฮฺ อาล อิมรอน ถัดจากอายะฮฺข้างต้นแค่อายะฮฺเดียว อัลลอฮฺจึงได้สั่งว่า (يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اصْبِرُوا وَصَابِرُوا وَرَابِطُوا وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ) (سورة آل عمران: 200)ความว่า "โอ้ บรรดาผู้มีอีมาน จงอดทนเถิด และจงสู้อดทน(กับพวกเขา)ต่อไปเถิด และจงปกปักษ์รักษาให้มั่น และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ"

          เห็นไหม ความอดทนแค่ครั้งเดียวอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังต้องการ “แข่งกันอดทน” กับฝ่ายตรงข้ามด้วย พระองค์สั่งให้เราอดทนมากกว่าที่พวกเขาอดทน ในเมื่อพวกเขาพยายาม มุมานะ และอดทนที่จะทำลายสัจธรรมได้ เหตุใดเราจึงไม่สามารถที่จะสู้อดทนเพื่อปกป้องและเชิดชูความสูงส่งของคำสอนอันบริสุทธิ์นี้ ?  พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราแค่ทนอยู่เฉยๆ แต่สั่งให้ “ปกปักษ์และพิทักษ์รักษา” อุดมการณ์อันเป็นสัจธรรมที่สูงส่งของเราด้วย พร้อมทั้งให้ผสมผสานกับกระบวนการแห่ง “ตักวา” หรือการยึดมั่นในความยำเกรงต่อพระองค์ สูตรทั้งหมดนี้ คือยาขนานแท้ที่จะนำประชาชาติแห่ง “อัล-ฮัก” สู่เส้นทางแห่งชัยชนะและความสำเร็จในที่สุด
 
        มีผู้คนจำนวนไม่น้อยใช่ไหม ที่เขานั้นมักจะตีโพยตีพายกับความสูญเสีย กับความลำบากและการถูกทดสอบของเขาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่าทุกๆการที่เขาถูกทดสอบนั้น เขาย่อมได้รับในสิ่งที่ติดตามมา ดั่งที่ ท่านรอซูล(ซ.ล) กล่าวว่า ว่า " عجبا لأمر المؤمن إن أمره كله له خير وليس ذالك لأحد إلا للمؤمن إن أصابته سراء شكر فكان خيرا له وإن أصابته ضراء صبر فكان خيرا له " ความว่า "น่าประหลาดจริงๆ สำหรับกิจการของผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) แท้จริง กิจการของเขาทั้งหมดล้วนเป็นความดีสำหรับเขา ดังกล่าวนั้นไม่มีในกิจการงานของบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) เท่านั้น (กล่าวคือ) หากความดีมาประสบกับเขา เขาก็ขอบคุณ (ต่ออัลลอฮฺ) ปรากฏว่านั่นเป็นความดีสำหรับเขา, แต่ถ้าหากความชั่วมาประสบกับเขา เขาก็อดทน (ต่อความชั่วนั้น) นั่นก็เป็นความดีสำหรับเขาอีกเช่นกัน" (บันทึกโดยมุสลิม) ซึ่งหลายครั้งนะที่เราเจ็บ หลายครั้งนะที่เราเจ็บปวด และหลายๆครั้งนะที่เราเสียใจ ที่เราผิดหวัง ที่เราเหนื่อย กับผลการสอบ กับผลการเรียน และเกิดความเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือกับการทำงานเพื่ออิสลาม เพื่ออัลลอฮและต้องทนเห็นพี่น้องท่านอื่นๆต้องประสบกับการสูญเสียคนที่เขารัก คนที่เขาหวง หรือผิดหวังในกิจการใดกิจการหนึ่งที่เราเองหรือเขาเองได้ให้ไป ได้ลงทุนไป ได้เสียสละไป แต่เกิดผลร้ายกลับมายังเราและเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้า เสียใจ เหนี่อยล้า ท้อถอยและผิดหวังกับการสูญเสียนั้นๆไปในที่สุด แต่ความผิดหวัง ความเสียใจ ความทุกข์ยาก ความเหนื่อยล้า ความท้อถอยที่เกิดขึ้นภายในหัวใจของเราหรือเขาเองนั้น หากเราเองหรือเขาเองนั้นเป็นแค่มุสลิมคนหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่มิได้นำอิสลามนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันในทุกๆเรื่องของเขาที่ทำ แน่นอนเขาย่อมที่จะคิด จะหาทางออกซึ่งความคิด หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพื่อให้ความผิดหวัง ความเสียใจ ความเหนื่อยล้า นั้นได้หายไป ได้จากไป จากความรู้สึกนั้นๆ ซึ่งแน่นอน วิธีการหรือทางออกที่เราเองหรือเขาเองได้เลือก ได้ปฏิบัติ เพื่อให้ความผิดหวัง เสียใจนั้นหมดไปก็ย่อมแตกต่างไปด้วยกับสถานการณ์หรือปัจจัยด้านหนึ่งด้านใดมาเอื้ออำนวยกับความรู้สึกตัวเองหรือเขาเองเป็นแน่ บ้างก็ฟังเพลง บ้างก็ดูหนัง บ้างก็ดูละคร บ้างก็ออกเดทกับแฟน บ้างก็โทรศัพท์หาเพศตรงข้าม และบ้างก็หยุดทำกิจกรรมนั้นๆไป เพื่อให้อารมณ์เครียดนั้นๆเปลี่ยน สบายใจ หรือบ้างก็ร้องไห้เพื่อเป็นการระบาย หรือบ้างก็หาอะไรๆมาทำเพื่อลืมสิ่งๆนั้น และบางครั้งเองเราเองหรือเขาเองก็โทรหากันเพื่อคอยปลอบกัน ระบายกัน พูดคุยกัน จนทำให้เปลี่ยนซึ่งอารมณ์เสียใจและผิดหวังนั้นไป แต่พี่น้องรู้ไหม? ในความเป็นจริงแล้ว... ความผิดหวัง ความเสียใจ ความลำบากหรือความทุกข์ยากในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มาประสบสำหรับบรรดามุอฺมินผู้ศรัทธาแล้วนั้น เขาจะไม่วิตก เขาจะไม่เสียใจ เขาจะไม่ผิดหวัง และท้อถอยสำหรับเขา เพราะแท้จริง มุอฺมินเมื่อบรรดาความรู้สึกเสียใจ ผิดหวังต่างๆมาประสบยังเขา เขาย่อมที่จะซุโกร เขาจะขอบคุณ เขาจะยินดี และเขามักจะน้อมรับซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นด้วยการยืนหยัด ด้วยการต่อสู้ ด้วยความอดทน เพราะเขาเองต่างก็รู้ดี ต่างก็ตระหนักกันดีว่า  สิ่งที่มาประสบกับเขาในทุกๆเรื่องนั้น ย่อมเป็นการทดสอบ ย่อมเป็นการลองใจและความจริงใจถึงบ่าวผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุอฺมิน เป็นผู้ศรัทธา ที่ศรัทธาต่อพระเจ้าของเขานั่นเองว่าเขาหวังไหม เขาตระหนักไหม ในสิ่งที่พระเจ้าของเขาได้สั่ งไว้ สอนไว้ เพราะพระเจ้าของเขาได้สั่งไว้ว่า "และบรรดาผู้อดทนโดยหวังพระพักตร์ (ความโปรดปราน) ของพระเจ้าของพวกเขา และดำรงการละหมาดและบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย และพวกเขาขจัดความชั่วด้วยความดี ชนเหล่านั้นสำหรับพวกเขาคืนที่พำนักในปั้นปลายที่ดี (Ar-Ra'ad อายะฮที่ 22) 

         เพราะฉะนั้นแล้ว มุอฺมินเขาจะไม่เสียใจ เขาจะไม่ผิดหวังเขาจะไม่ตีโพยตีพาย หากความทุกข์ใดๆมาประสบยังเขาอันเนื่องจาก เขามีเป้าหมาย เขามีความหวัง เขามีหนทางที่มากไปกว่า การหายซึ่งความรู้สึกเสียใจ ผิดหวังภายหลังจากที่เขาได้รับความทุกข์นั้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว อีกทั้ง ทุกๆการประสบภัย ทุกๆการเสียใจและทุกๆความผิดหวังที่ประสบสำหรับบรรดามุอฺมินแล้วนั้น เขาย่อมรู้ว่าการอดทนนั้นย่อมนำมาซึ่งการตอบแทนที่ดีกว่าดั่งที่ ท่านรอูซูล(ซ.ล) กล่าวว่า "มุสลิมนั้นจะไม่ประสบภัย ป่วยไข้ กังวล เศร้าโศก และอันตรายใดๆ แม้เพียงแค่หนามตำเว้นแต่อัลลอฮจะทรงชำระบาปของเขาด้วยภัยนั้นๆ (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)   
 
        ดังนั้น ความอดทนคือความรู้สึกหนึ่งและการกระทำของผู้ที่มีเป้าหมายหนึ่งๆในชีวิต ความอดทนนั้นสำคัญสำหรับชีวิตเปรียบเสมือนกับชีวิตของคนสองคน ชีวิตคนสองคนจะสูงส่งหรือต่ำต้อยนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาพระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเรื่องความอดทนสำหรับการดำเนินชีวิตมนุษย์ ลองนึกถึงสภาพของหญิงผู้หนึ่งรู้สึกปวดปัสสาวะ อุจจาระ สำคัญสำหรับเธอที่จะต้องอดทนจนถึงห้องสุขาให้ได้ ไม่สามารถจะถ่ายทุกข์บนที่นอนของเธอได้ หรือสภาพของหญิงสาวผู้หนึ่งรู้สึกง่วงนอน ต้องการพักผ่อน เธอต้องอดทนจนถึงห้องนอนของเธอให้ได้ ไม่สามารถนอนข้างถนนได้ ความอดทนจึงเป็นความรู้สึกหนึ่งของชีวิตที่มีเป้าหมายสำหรับชีวิตมุอฺมินผู้ศรัทธานั้น ชีวิตที่ประเสริฐจึงมิใช่ชีวิตที่ปราศจากปัญหา แต่เป็นชีวิตที่มีความอดทนเพื่อชัยชนะเหนืออุปสรรคนั้นๆต่างหาก 
 
        ความอดทนเป็นสิ่งสวยงาม ดั่งกับสวนดอกไม้แห่งหนึ่งมีมวลดอกไม้นานาพันธิ์ หลากหลายสีสรรค์สวยงามมาก ดอกไม้ที่สวนแห่งนี้ต้องเผชิญกับความร้อน ความเย็น และความชุ่มชื้นในฤดูกาลทั้งสามฤดู ช่วงฤดูร้อนเข้ามาดอกไม้เหล่านั้นไม่สดใส ความเย็นของฤดูหนาวเล่าหนาวเย็นจับใจ ช่วงฤดูฝนเข้ามาสร้างความชุ่มชื้น ดอกไม้เหล่านั้นชูช่อ สดใส สามฤดูผลัดเปลี่ยนไป ณ ทุ่งดอกไม้สวยงามที่เราเห็นนั้นเผชิญกับการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนกลายเป็น ทุ่งมวลดอกไม้แสนสวย เช่นกัน ชีวิตคนเรามีทั้งความสุขและความทุกข์สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนกลายเป็นชีวิตที่แสนสวย ณ ดินแดนมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติที่สวยงาม อัลลอฮฺได้สร้างธรรมชาติที่สวยงามเหล่านั้นและสร้างมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง พระองค์ทรงบริหารสากลจักรวาลด้วยอานุภาพของพระองค์ ฟากฟ้า  สายฟนที่พรั่งพรูลงมา หมู่ดวงดาวส่องแสงประกายบนท้องฟ้าและแผ่นดินที่ลาดออกไป ลำธารที่ไหลเย็นฉ่ำชื่นใจ และสร้างมนุษย์ไว้ให้เชื่อฟังและฝ่าฝืนในสองทางเลือกนั้น ธรรมชาติสรรพสิ่งต่างๆสวยงามหมดสิ้น เหลือไว้เพียงแต่มนุษย์ที่ฝ่าฝืนไม่สวยงาม มนุษย์ที่เชื่อฟังอัลลอฮฺนั้นสวยงามเข้ากันได้กับธรรมชาติที่สวยงามของพระองค์ ความซอบัรอดทนเพือจะเชื่อฟังพระองค์จึงเป็นสิ่งสวยงามตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง คำสั่งของอัลลอฮฺผู้ทรงบริสุทธิ์นั้นต้องอาศัยความอดทนสำหรับชีวิตที่ประสงค์จะประสพชัยชนะที้งดุนยาและอาคีเราะห์เท่านั้น 

           แน่นอนยิ่ง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่และสุดยอดแห่งความสำเร็จนั้นคือสวรรค์อันสถาพร และเส้นทางแห่งสวรรค์ก็คือเส้นทางที่ต้องอดทน ดังที่ประจักษ์ชัดจากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ณ วันนี้ ประชาชาติแห่งอีมาน มีความมานะอดทนแค่ไหนที่จะยกฐานะตนเองให้เป็นผู้ที่ยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา? เราอดทนได้หรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นห่างจากการกระทำบาปทั้งหลายที่ยั่วต่อมตัณหาและอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต? เราสร้างสังคมในครอบครัวให้เป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺหรือยัง? เราทำอะไรบ้างเพื่อร่วมแก้ไขให้สังคมรอบข้างดีขึ้น? สุดท้าย เรามีความขันติ ความอดทน และความอดกลั้นมากแค่ไหน ที่จะเผชิญหน้ากับการท้าทายของกระแสที่ปล่อยมาจากอีกฝ่ายหนึ่งตรงกันข้าม ซึ่งครอบคลุมอยู่ ณ ทุกอณูแห่งอากาศบนพื้นแผ่นดินขณะนี้ ? อัลลอฮฺได้ตรัสว่า (وَإِنْ تَصْبِرُوا وَتَتَّقُوا لا يَضُرُّكُمْ كَيْدُهُمْ شَيْئًا إِنَّ اللَّهَ بِمَا يَعْمَلُونَ مُحِيطٌ) (آل عمران :120)ความว่า "หากแม้นพวกเจ้าอดทนและตักวา ก็ไม่มีอันที่แผนการของพวกเขาจะให้โทษแก่พวกเจ้าได้เลยแม้แต่น้อย"คำตอบทั้งหมดมิอาจจะปราศจาก “อัศ-ศ็อบรฺ” หรือความอดทนได้เลย หากเราต้องการที่จะเป็นผู้ได้รับความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับการทักทายในสวรรค์ว่า(سَلامٌ عَلَيْكُمْ بِمَا صَبَرْتُمْ فَنِعْمَ عُقْبَى الدَّارِ) (سورة الرعد: 24)
        “ขอสันติสุขมีแก่พวกท่านทั้งหลาย ด้วยการที่พวกท่านอดทน และนั่นคือแหล่งพำนักสุดท้ายที่ดียิ่ง”   
                                   
           มีคำทักทายอื่นใดอีกหรือ ที่เราท่านอยากจะได้ยินและปรารถนาจะได้รับ มากกว่าคำทักทายนี้อีกเล่า !?
ขออัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีก... อามีน

ส่วนหนึ่งรวบรวมจากเว็ปไซค์ต่างๆ

والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=391