มุสลิมสามประเภท
วัน เสาร์ 04 ต.ค. 08 @ 17:27
หัวข้อ: บทความทั่วไป


โดย  อะสัน หมัดอะดั้ม

                ถ้าเรามาพิจารณาผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือ มุสลิมในสังคมยุคปัจจุบัน เราจะพบว่า  ลักษณะการเป็นมุสลิมของคนเหล่านั้น มีหลากหลายลักษณะ พอจะสรุปดังต่อไปนี้ 

1.มุสลิมมุชริก (مسلم مشرك ) หมายถึง ผู้ที่อ้างว่าตนเองนับถือศาสนาอิสลาม แต่ ความเชื่อและการปฎิบัติ ยังตกอยู่ในวังวนของการชิริก หรือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา    เช่น ยังเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์  เชื่อเรื่อง โหรศาสตร์  การดูดวง  ดูโชคชะตาราศี  เชื่อโชคลาง   เชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง บ้างก็ยังเชื่อในอำนาจและอิทธิพลของสิ่งต่างว่า ให้คุณให้โทษได้  และบางครั้งยังทำความดีเพื่อโอ้อวด และเพื่อความมีหน้ามีตาในสังคม ให้สังคมยกย่องว่า เป็นคนใจบุญ เป็นต้น    


มุสลิมประเภทนี้ ย่อมไม่ประสบความสำเร็จในวันกิยามะฮ ส่วนหนึ่งจากคำสอนศาสนาอิสลามที่กล่าวถึงโทษของการการชิริก เช่น 
อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 إِنّ اللّهَ لاَ يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَلِكَ لِمَن يَشَآءُ

"แท้จริงอัลลอฮจะมิทรงอภัยโทษต่อการที่พระองค์ถูกตั้งภาคี และจะอภัยโทษแก่สิ่ง(ความผิด)อื่นจากนั้น แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์" - อันนิสาอ/48 

อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัส

   وَلَوْ أَشْرَكُواْ لَحَبِطَ عَنْهُمْ مّا كَانُواْ يَعْمَلُونَ
  และหากพวกเขาตั้งภาคี สิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้นั้นไร้ผล – อัลอันอาม/88

  ท่านนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮวะสัลลัม กล่าวถึงโทษของผู้ที่เชื่อหมอดูว่า 
 

 "    من أتى عرافا فسأله عن شيء لم
تقبل صلاة أربعين ليلة " . رواه مسلم
 "บุคคลใดที่มาหาหมอดู (หมอทำนาย) แล้วถามเขาจากสิ่งหนึ่ง  การนมาซสี่สิบคืน (เท่ากับสองร้อยเวลา) จะไม่ถูกรับ (จากเขา)" (บันทึกโดยมุสลิม)
 
อีกหะดีษหนึ่งระบุว่า  

 من أتى عرافا أو كاهنا فصدقه بما يقول فقد كفر بما أنزل على محمد رواه أبو داود والترمذي والنسائي وابن ماجه"

  บุคคลใดที่มาหาหมอดู หรือหมอทำนาย และเชื่อในสิ่งที่เขาพูด เช่นนี้ถือว่าเขาปฏิเสธสิ่งที่ถูกประทานมายังท่านนบีมุหัมมัด” (บันทึกโดยอบูดาวูด, ติรฺมิซีย์, นะสาอีย์ และอิบนุมาญะฮฺ, เชคอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษเศาะหี้หฺ

عن عمران  بن حصين رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم { ليس منا من تطير أو تطير له , أو تكهن أو تكهن له , أو سحر أو سحر له  

  รายงานจากอิมรอน บิน หุศัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า “รซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่ “ ไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่เชื่อโชคลาง หรือ ผู้ที่ให้ผู้อื่นบอกโชคลางแก่เขา หรือ ผู้ที่ดูดวงชะตา หรือ ผู้ที่ให้ผู้อื่นดูดวงชะตาให้  หรือ ผู้ที่ทำไสยศาตร์ หรือ ผู้ที่ให้ผู้อื่นทำไสยศาสตร์ให้แก่เขา” – รายงานโดย อัลบัซซาร ด้วยสายรายงานที่ดี.

2. มุสลิมมุนาฟิก(مسلم منافق ) หมายถึง  ผู้ที่อ้างตนหรือแสดงให้สังคมเห็นว่าตนเองเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ ในหัวใจของเขาไม่นิยมชมชอบ ในศาสนาอิสลาม หรือ มีอคติต่อศาสนาอิสลาม หรือ ต่อผู้ที่ศรัทธาในศาสนาอิสลาม   มุสลิมประเภทนี้  เวลาประกอบศาสนกิจ ก็ทำแบบจำใจทำ เพื่อให้สังคมยอมรับว่า ตนเองเป็นมุสลิมคนหนึ่งเท่านั้น  และมุสลิมประเภทนี้ มักจะปรับตัวเข้าได้กับทุกสังคมและทุกศาสนา  เพราะจะให้เขาทำอะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้อยู่รอดในสังคม  อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวถึงบุคคลประเภทนี้ว่า
 
إِنَّ الْمُنَافِقِينَ يُخَادِعُونَ اللّهَ وَهُوَ خَادِعُهُمْ وَإِذَا قَامُواْ إِلَى الصَّلاَةِ قَامُواْ كُسَالَى يُرَآؤُونَ النَّاسَ وَلاَ يَذْكُرُونَ اللّهَ إِلاَّ قَلِيلاً [4.142
 
  แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นกำลังหลอกลวงอัลลอฮ์อยู่(1) ขณะเดียวกันอัลลอฮ์ก็ทรงหลอกลวงพวกเขา และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้านโดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮ์ นอกจากเล็กน้อยเท่านั้น.

 รซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า  
 
ثلاث من كن فيه فهو منافق وإن صام وصلى وقال إني مسلم إذا حدث كذب وإذا وعد أخلف وإذا اؤتمن خان) متفق عليه
   

  “บุคคลใดมี 3 ประการต่อไปนี้ เขาคือ มุนาฟิก(คนสับปลับ) แม้ว่า เขาถือศีลอดและละหมาด และแม้ว่า เขากล่าวว่า “ฉันเป็นมุสลิม”  เมื่อเขาพูด เขาก็โกหก,เมื่อเขาสัญญา เขาก็ผิดสัญญา และ เมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาก็หลอกลวง – มุตตะฟักอะลัยฮิ

3. มุสลิมมุอฺมิน (مسلم مؤمن ) หมายถึง  ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ด้วยความศรัทธาที่แท้จริง พระองค์อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่า

إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ آمَنُوا بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ ثُمَّ لَمْ يَرْتَابُوا
  وَجَاهَدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنْفُسِهِمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ أُولَئِكَ هُمُ الصَّادِقُونَ
 

          อันที่จริง บรรดาผู้ศรัทธาคือ บรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮและรอซูลของพระองค์ หลังจากนั้นพวกเขามิได้รวนเร และพวกเขาเสียสละ ทรัพย์สินและชีวิตพวกเขาในวิถีทางของอัลลอฮ  พวกเหล่านี้แหละคือ บรรดาผู้ที่มีความสัจจริง – อัลหุจญรอต/15 ท่านอิบนุกะษีร(ขออัลลอฮเมตตาต่อท่าน)อธิบายว่า

إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ " أَيْ إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الْكُمَّل " الَّذِينَ آمَنُوا بِاَللَّهِ وَرَسُوله ثُمَّ لَمْ يَرْتَابُوا " أَيْ لَمْ يَشُكُّوا وَلَا تَزَلْزَلُوا بَلْ ثَبَتُوا عَلَى حَال وَاحِدَة , وَهِيَ التَّصْدِيق الْمَحْض " وَجَاهَدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنْفُسهمْ فِي سَبِيل اللَّه " أَيْ وَبَذَلُوا مُهَجهمْ وَنَفَائِس أَمْوَالهمْ فِي طَاعَة اللَّه وَرِضْوَانه" أُولَئِكَ هُمْ الصَّادِقُونَ " أَيْ فِي قَوْلهمْ إِذَا قَالُوا إِنَّهُمْ مُؤْمِنُونَ لَا كَبَعْضِ الْأَعْرَاب الَّذِينَ لَيْسَ لَهُمْ مِنْ الْإِيمَان إِلَّا الْكَلِمَة الظَّاهِرَة      

     อันที่จริง บรรดาผู้ศรัทธา หมายถึง บรรดาผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ คือ บรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮและรอซูลของพระองค์ หลังจากนั้นพวกเขามิได้รวนเร หมายถึง พวกเขาไม่สงสัยและไม่รวนเร แต่ทว่า พวกคงมีความมั่นคงในสถานะเดียว (ไม่เปลี่ยนจุดยืน) คือ มีสัจจะอย่างแท้จริง และพวกเขาเสียสละ ทรัพย์สินและชีวิตพวกเขาในวิถีทางของอัลลอฮ หมายถึง พวกเขาอุทิศชีวิตและทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยหยาดเหงื่อของพวกเขาในการภักดีต่ออัลลอฮและแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ 

พวกเหล่านี้แหละคือ บรรดาผู้ที่มีความสัจจริง หมายถึง มีความสัจจริงตามที่พวกเขาพูดว่า พวกเขา เป็นผู้ศรัทธา ซึ่งไม่เหมือนกับชาวอาหรับชนบทบางส่วนที่พวกเขาไม่มีอีหม่าน นอกจากเป็นเพียงถ้อยคำที่ปรากฏภายนอกเท่านั้น (ไม่ใช่เกิดจากใจ) -ดูตัฟสีรอิบนิกะษีร อรรถาธิบายอายะฮที่ 15 ซูเราะฮ อัลหุจญรอต                        

    เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านจัดอยู่ในมุสลิมประเภทใหน ก็ลองพิจารณาดูเอาเอง  และพึง จำไว้ว่า  “ มุอฺมินทุกคน นั้น เป็นมุสลิม และทุกคนที่เป็นมุสลิม ไม่ได้เป็นมุอฺมินเสมอไป”  ดังนั้นเราขอวิงวอนต่ออัลลอฮตะอาลา ได้โปรดบันดาลให้เราทุกคน เป็นมุสลิมที่เป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงเถิด- อามีน
........................

وبالله التوفيق والهداية

-------------------
(1) หมายถึง ปล่อยให้พวกเขาเข้าใจว่า พระองค์ไม่รู้สิ่งที่พวกเขาซ่อนเร้นในใจของพวกเขาและการกระทำของพวกเขาที่พยายามตบตาคนในสังคม ทั้งๆที่พระองค์ทรงรู้ยิ่ง







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=363