จังหวัดพัทลุง
วัน จันทร์ 09 ม.ค. 06 @ 10:34
หัวข้อ: อนุรักษ์ทัวร์ทั่วไทย


โดย ซัลมา สกุลดี

เมืองหนังโนราห์ อู่นาข้าว พรางน้ำตก
แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน

พัทลุง อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากกรุงเทพฯ 860 กิโลเมตร..

มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3,424.473 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองแห่งขุนเขาที่เก่าแก่โบราณเมืองหนึ่งของภาคใต้ ตัวเมืองมีเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์สูงเด่นมองเห็นแต่ไกล
แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นอุทยานนกน้ำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อำเภอควนขนุน
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518 แต่ประชาชนมักเรียกกันว่า “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” ซึ่งนับเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ

สัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอบๆทะเลน้อย บริเวณพรุควนขี้เสียน เป็นแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย เขตห้ามล่าสัตว์ป่านี้มีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช

ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ (ทะเลน้อย) ประมาณ 17,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลน้อยเป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วย นาข้าว ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ตัวทะเลน้อยกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีพืชน้ำปกคลุม เช่น ผักตบชวา กง กระจูดหนู บัวต่างๆ และพืชลอยน้ำ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่แบ่งออกเป็น นกน้ำ 287 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด นกน้ำมีทั้งนกที่ประจำถิ่นและนกอพยพ เช่นนกกาบบัว นกกุลา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจในการเที่ยวชมอุทยานนกน้ำทะเลน้อยคือ พระตำหนักทะเลน้อย ทะเลบัวยามเช้า ฝูงนกน้ำนานาชนิด แหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำบริเวณอ่าวหม้อ หน่วยพิทักษ์ป่าควนขี้เสียน แหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำบริเวณควนทะเลมอง และจุดชมธรรมชาติบริเวณศาลานางเรียม

อำเภอกงหรา
น้ำตกไพรวัลย์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เงียบสงบร่มเย็นด้วยพรรณไม้นานาชนิด

อำเภอตะโหมด
น้ำตกลานหม่อมจุ้ย เป็นน้ำตกที่อยู่ท่ามกลางป่าที่ร่มรื่น อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าบ้านตะโหมด ลักษณะของน้ำตกจะแบ่งเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีชื่อต่างกัน มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้

อำเภอศรีบรรพต
อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นอุทยานฯลำดับที่ 42 ของประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 ครอบคลุมจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราชและจังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 433,750 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเทือกเขาบรรทัด มีภูเขาสลับซับซ้อนมากมายมี “เขาหินแท่น” เป็นยอดเขาสูงสุด

พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นต้นน้ำของแม่น้ำตรังและแม่น้ำปากพนัง โดยในฝั่งจังหวัดพัทลุงเป็นแหล่งกำเนิดคลองลาไม คลองไม้เสียบ คลองน้ำใส ซึ่งจะไหลรวมเป็นคลองชะอวดและแม่น้ำปากพนัง

และสภาพพืชพรรณส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น มีพรรณไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นเช่น ไม้ยาง ตะเคียน หลุมพอ กระบาก จำปาป่า พิกุล เป็นต้น

ส่วนสัตว์ป่ามีจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประมาณ 60 ชนิด เช่น เลียงผา เก้ง กวาง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวปีกถุงเคราดำ เป็นต้น สัตว์จำพวกนก พบประมาณ 286 ชนิด เช่น นกแซวสวรรค์ นกกางเขนดง นกกินปลีสีเรียบ นกจับแมลงสีส้ม นกขุนแผนอกส้ม นกกระบั้งรอก นกเงือกหัวหงอก นกเขาเขียว นกกระเต็นแดง เป็นต้น

จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน พบประมาณ 67 ชนิด อาทิเช่น งูดิน เห่าช้าง งูจงอาง กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า ตุ๊กแกป่าใต้ ตะพาบน้ำ เป็นต้น

จำพวกปลา พบประมาณ 15 ชนิด เช่น ปลาตูหนา ปลามัด ปลาดุกรำพัน ปลาหวด ปลาซิวใบไผ่ เป็นต้น

จำพวกสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก อาทิเช่น กบหงอนมลายู กบเขาหลังตอง กบอ่อง จงโคร่ง กบตะนาวศรี คางคกแคระ เขียดบัว เป็นต้น

จำพวกแมลง พบประมาณ 70 ชนิด เช่น ผึ้งหลวง จักจั่น งวงมวนแดง ด้วงกว่างห้าเขา ผีเสื้อหางติ่งอิศวร ผีเสื้อพระเสาร์ใหญ่ ผีเสื้อเจ้าป่า เป็นต้น

ถ้ำมัจฉาปลาวน เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง มีหินงอกหินย้อย ม่านหินปูน และค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีจงโคร่ง กิ้งกือ ปลายถ้ำจะมีแอ่งน้ำกว้างประมาณ 10 ตารางเมตร มีกุ้ง หอย และปลามัด อาศัยอยู่

ผาผึ้ง อยู่ห่างจากบริเวณที่ทำการอุทยานฯประมาณ 300 เมตร เป็นหน้าผาหินปูนที่มีผึ้งหลวงมาทำรังนับร้อยรังในทุกๆปี ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หากเดินไปตามทางไหล่เขาด้านบนสุดเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นธรรมชาติพรรณไม้นานาชนิด






บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=289